สารดูดความชื้น ประเภทมอนต์โมริลโลไนต์ เคลย์ และโมเลกุลลาร์ ซีฟ

สารดูดความชื้น นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันสินค้าจากความชื้น ที่มาจากแหล่งความชื้นทั้ง 3 ลักษณะ (ตัวสินค้า อากาศภายในบรรจุภัณฑ์ และอากาศแวดล้อม) การใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่ดีย่อมลดหรือขจัดแหล่งความชื้นจากอากาศแวดล้อมได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม แหล่งความชื้นจากตัวสินค้าเอง และ อากาศภายในบรรจุภัณฑ์ ในระหว่างการบรรจุนั้นเป็นสิ่งที่ต้องกำจัด หรือจำกัดด้วยสารดูดความชื้นชนิดต่างๆ เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าให้สมบูรณ์อยู่เสมอ สารดูดความชื้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด โดยแต่ละชนิดจะมีคุณลักษณะ และความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

มอนต์โมริลโลไนต์ เคลย์ (Montmorillonite Clay)

เป็นดินธรรมชาติที่มีโครงสร้างเป็นรูพรุนจำนวนมาก ดินประเภทนี้เมื่อได้รับการเผาที่อุณหภูมิสูง (calcination) จะทำให้ความสามารถในการดูดความชื้น และ การคงสภาพหลังการใช้ดีขึ้น โดยปรกติ มอนต์โมริลโลไนต์ เคลย์ มีความสามารถในการดูดความชื้น ประมาณ 25% ของน้ำหนักตัวเอง ประสิทธิภาพ ดังกล่าว จะลดลงค่อนข้างมาก เมื่ออุณหภูมิรอบข้างสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเหตุนี้ การใช้มอนต์โมริลโลไนต์ เคลย์ สำหรับบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง จะต้องพิจารณาถึงข้อจำกัด ข้อนี้ เช่นเดียวกับ การใช้ซิลิกา เจล

โมเลกุลลาร์ ซีฟ (Molecular Sieve)

โมเลกุลลาร์ ซีฟ (Molecular Sieve) หรือ ที่เรียกว่า Synthetic Zeolite เป็นสารสังเคราะห์ ที่มีคุณสมบัติในการดูดความชื้น ที่ดีมากๆ ภายใต้ ความชื้นสัมพัทธ์ รอบข้าง ในระดับต่ำ (10%-30%) โดยมีประสิทธิภาพ ในการดูดความชื้นประมาณ 22% ของน้ำหนักตัวเอง โครงสร้างพิเศษทำให้โมเลกุลลาร์ ซีฟ มีพื้นผิวสัมผัส ประมาณ 7-800 ตารางเมตร ต่อ 1 กรัม และมีแรงดึงดูดความชื้น ที่สูงมาก ข้อดีดังกล่าว ทำให้ปัญหาการคายความชื้นน้อยกว่าซิลิกา เจล และ มอนต์โมริลโลไนต์ เคลย์ เมื่ออุณหภูมิรอบข้างสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม โมเลกุลลาร์ ซีฟ ยังไม่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐ ในการใช้งาน กับ อาหารและยา จึงทำให้สารชนิดนี้ ยังไม่แพร่หลายมากนัก